Myofascial pain syndrome (MPS) หมายถึงกลุ่มอาการปวดหรืออาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติของ กล้ามเนื้อ หรือเยื่อผังผืด ทำให้มีอาการปวด ซึ่งจำกัดอยู่บริเวณหนึ่งบริเวณใดของร่างกาย ซึ่งอาจมีพื้นที่แคบหรือกว้าง มีบริเวณเดียวหรือหลายๆบริเวณก็ได้
MPS สามารถเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย การวินิจฉัยแยกโรคจึงต้องแยกจากโรคต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดอาการปวดในบริเวณนั้นด้วย ถ้าอาการต่างๆ ดำเนินอย่างต่อเนื่องหรือเกิดซ้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน เรียกว่าโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือ Chronic Myofascial Pain Syndrome
อุบัติการณ์
MPS เป็นสาเหตุของปัญหาปวดเรื้อรังที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ
มีอุบัติการณ์พบได้ 20- 30% ในผู้ป่วยทั่วไปที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหาปวดเรื้อรัง
ลักษณะทางคลินิก
1. มีอาการปวด เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งอาจมีความรุนแรงได้ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงปวดรุนแรงมาก
2. มีประวัติรับการรักษาบ่อยๆ ที่บริเวณเดิมซึ่งจะมีความจำเพาะตามกล้ามเนื้อแต่ละมัดหรือแต่ละกลุ่ม
3. มีจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อที่เรียกว่า Trigger point ซึ่งจะเป็นจุดปวดที่ไวต่อการกระตุ้น
4. อาจมีอาการผิดปกติในระบบประสาทอัตโนมัติอื่นๆร่วมด้วยเช่น ซ่า วูบ เย็น เหน็บ หนา ซีด ขนลุก เหงื่อออกตามบริเวณที่มีอาการปวด
5. MPS ที่เป็นบริเวณคอ อาจทำให้มีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่าได้
6. ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง อาจมีความวิตกกังวล ท้อแท้ซึมเศร้า
สาเหตุ
กลไกที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่าเป็นการผิดปกติร่วมกันของกล้ามเนื้อที่ทำงานเกินกำลัง กล้ามเนื้อล้า หดเกร็ง และมีการคั่งค้างของของเสียไปรบกวนระบบประสาทอัตโนมัติและกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวด
สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังคือ
-
มีปัจจัยทางโครงสร้างผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีหลังคด ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อไม่สมดุล
-
ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้รองเท้าส้นสูงเกินไป เอียงคอหนีบหูโทรศัพท์ ความสูงของเก้าอี้ไม่เหมาะทำให้แขน ลำตัวและคอ ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ได้สมดุลขณะทำงาน
-
มีการทำงานในท่าเดิมซ้ำๆ เช่น นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการพัก หรือยืดกล้ามเนื้อ สะพายกระเป๋า หรือหิ้วของหนักๆ ในระยะทางไกลๆ
การวินิจฉัย
โรคดังกล่าววินิจฉัยจากประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ผู้ป่วยมักมีประวัติ ของการใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลัง หรือมีพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นอย่างซ้ำๆ มีอาการเคล็ด ขัด ยอก หรือมีประวัติได้รับอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว นอกจากอาการปวด ก็อาจมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่นมีอาการ ซ่า วูบ เย็น เหน็บ หนา ซีด ขนลุก เหงื่อออกง่าย
การตรวจร่างกายโดยการกดคลำกล้ามเนื้อก็จะมีจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อซึ่งจะเป็นจุดปวดที่ไวต่อการกระตุ้น ในบางรายถ้ามีการกดบริเวณจุดกดเจ็บนี้ สามารถจะกระตุ้นให้แสดงอาการปวด และแสดงอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติได้ และบ่อยครั้งที่กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวจะปวดแข็งตึงคลำได้เป็นก้อน
การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการมักไม่มีความจำเป็นเพราะจะไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจนใดๆ
การรักษา
โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังสามารถให้การรักษาได้หลากหลายวิธี แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงรายละเอียดของการรักษาแต่ละวีธีซึ่งผู้ป่วยอาจรับการรักษาวิธีเดียวหรือหลายๆวิธีร่วมกัน
วิธีการรักษาประกอบด้วย
• การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน ความเย็น ความร้อนลึก (ultrasound) การนวด การยืดกล้ามเนื้อ การปรับอิริยาบทให้สมดุลถูกต้อง เป็นต้น
• การฉีดยาที่บริเวณจุดกดเจ็บ (Trigger point injection)
•การแทงเข็มที่บริเวณจุดกดเจ็บ หรือ การฝังเข็ม
• การรักษาทางยา
ยาลดอาการปวด นิยมใช้ยาแก้ปวดธรรมดา เช่นพาราเซทตามอล ในกรณีที่อาการไม่บรรเทาหรือมีอาการปวดรุนแรงก็จะพิจารณาให้ยากลุ่ม อื่นๆเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้เช่น
การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าว
ต้องมีการวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานให้อยู่ในอิริยาบทและท่าทางที่สมดุลเหมาะสม ทั้งในการยืน เดิน นั่ง และนอนไม่ให้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกใช้งานเกินกำลัง หรือใช้งาน ซ้ำๆ ต่อเนื่อง
ควรประเมินด้วยว่าสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจะเป็นสาเหตุของอาการปวดหรือไม่ เช่น เก้าอี้ เบาะนอน หมอนหนุน กระเป๋าสะพาย น สร้อยคอ รองเท้าส้นสูง ท่านั่งในการขับรถ ท่านั่งทำงานเป็นต้น ควรจะออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพและความสามารถในการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ หาโอกาสพักผ่อนจิตใจหรือทำกิจกรรมที่ช่วยคลายอารมณ์ความวิตกกังวล
การรักษาทางเลือก
การฝังเข็ม
การนวดแผนไทย