โรคออฟฟิศซินโดรม (OfficeSyndrome) เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงาน ซึ่งทำงานในออฟฟิศ ไม่ค่อยได้มีโอกาสออกกำลังกายหรือพักเปลี่ยนอิริยาบทในระหว่างวัน พบบ่อยในคนที่ต้องนั่งทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ส่งผลให้เกิดอาการ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามอวัยวะต่างๆ เช่น หลัง เอว คอ ไหล่ บ่า แขน
อุบัติการ
พบบ่อยในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต้องนั่งทำงานต่อเนื่องหลายๆชั่วโมง อาจพบได้สูงถึง 60-70% ของประชากรที่ทำงานในลักษณะดังกล่าว
สาเหตุ
โรคออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการทำงานต่อเนื่องโดยไม่ได้พักเปลี่ยนอิริยาบท ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า เกิดการอักเสบ กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวและปวด โรคออฟฟิศซินโดรมยังอาจเกิดจากการทำงานซึ่งต้องอยู่ในอิริยาบทที่ผิดสุขลักษณะ มีการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป หรือ บ่อยเกินไป
การวินิจฉัย
โดยทั่วไปโรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย ผู้ป่วยมักมีประวัติ ป่วยหลังจากทำงานต่อเนื่อง หรืออาจมีประวัติของการใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลัง หรือมีการทำงานโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างซ้ำๆ ผู้ป่วยอาจ มีอาการปวดได้ตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลาง จนถึงปวดรุนแรง อาจปวดที่บริเวณเดียวหรือ หลายๆบริเวณพร้อมๆกัน ผู้ป่วยมักมีประวัติเจ็บป่วยสัมพันธ์กับการทำงาน และอาการจะดีขึ้นเมื่อไม่ได้ทำงาน หรือได้พักผ่อนติดต่อกันหลายๆวัน
การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการมักไม่มีความจำเป็นเพราะจะไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจนใดๆ นอกจากตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคในความผิดปกติอื่นๆ ออกไป
การรักษา
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีอาการที่บรรเทาไปได้เอง หรือดีขึ้นเมื่อรับประทานยาแก้ปวดหรือนอนพัก แต่หากการดูแลเบื้องต้นไม่สามารถทำให้อาการบรรเทา ก็ควรจะมาพบแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาประกอบด้วย
• การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน ความเย็น ความร้อนลึก (ultrasound) การนวด การยืดกล้ามเนื้อ การปรับอิริยาบทให้สมดุลถูกต้อง เป็นต้น
• การรักษาทางยา
มียาอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ แพทย์จะพิจารณาจากประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อประกอบการให้ยาตามความจำเป็น กลุ่มยาที่ใช้บ่อยมีดังนี้
ยาแก้ปวด ที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ (NSAID)
ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants)
ยาคลายกังวล
การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าว
ต้องมีการวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในอิริยาบทและท่าทางที่สมดุลเหมาะสม ทั้งในการยืน เดิน นั่ง และนอนไม่ให้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกใช้งานเกินกำลัง ใช้งาน ซ้ำๆ ต่อเนื่อง หรือมีการใช้ผิดท่า
การรักษาทางเลือก
การฝังเข็ม
การนวดแผนไทย
Alexander Technique
การป้องกัน
1.จัดสภาพโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ สะดวกต่อการเคลื่อนไหวในการหยิบสิ่งของหลีกเลี่ยงการเอี้ยวตัวอยู่บ่อยๆ ก้มเงยบ่อยๆ หันซ้ายหันขวาบ่อยๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อเคล็ดได้ เก้าอี้ควรเป็นแบบปรับขึ้นลงได้ และควรมีพนักพิงที่สามารถรองรับศีรษะ ปรับความสูงเพื่อให้สามารถกดคียบอร์ดได้อย่างถนัด ควรมีที่รองรับข้อมือไม่ให้เกิดการกระดกข้อมือซ้ำๆ ปรับระดับความสูงของจอภาพคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศาเพื่อช่วยลดอาการปวดตาและปวดคอ
2.ปรับท่านั่งและ บุคลิก อย่าให้ไหล่ห่อ นั่งค่อม หรือ ก้มคอ เงยคอ มากเกินไป
3.พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนอิริยาบถ ลุกออกไปเปลี่ยนอิริยาบททุกๆ ชั่วโมงเพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีโอกาสยืดพักและคลายตัว เงยหน้าขึ้นมองออกไปไกลๆ ทุกๆ 20 นาที เพื่อบรรเทาความเหนื่อยล้าของสายตา กระพริบตา ปิดตาสักพักเ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา
4.ยกของจากพื้นโดยใช้ท่าทางที่เหมาะสม ให้ของที่จะยกอยู่ประชิดตัว ย่อเข่าหลังตรง ไม่ก้มหลังยกของ
5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ครบทุกส่วนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง บ่า เอว แขนขา และหน้าท้อง
6.เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อย อย่าฝืนร่างกาย ให้เปลี่ยนอิริยาบทจนอาการคลายปวดลงจึงทำงานต่อ
7.เลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูง แต่ถ้าจำเป็นต้องใส่ ควรให้มีความสูงไม่เกิน 2 นิ้ว
8.หากต้องใช้โทรศัพท์มาก ให้ใช้หูฟังโ ไม่ควรเหน็บหูโทรศัพท์ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อคอเกร็งมากเกินไป เ
9.หลีกเลี่ยงภาวะเครียด และหาวิธีผ่อนคลายอารมณ์ ให้มีความสดชื่น